การเตรียมงบประมาณเพื่อปรับปรุงบ้าน

การเตรียมงบประมาณเพื่อปรับปรุงบ้าน

หากจะกล่าวถึงงบประมาณในการปรับปรุงบ้าน หรือแม้กระทั่งการซ่อมแซมบ้านครั้งยิ่งใหญ่นั้น ย่อมมีปัจจัยหลากหลายตามแต่ละกรณีแตกต่างกันไป ซึ่งล้วนมีผลต่อปริมาณค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น แต่หากเจ้าของบ้านต้องการกะงบประมาณคร่าวๆ เพื่อที่จะวางแผนด้านการเงินอาจพิจารณา ดังนี้

งบประมาณค่าก่อสร้าง (ค่าวัสดุ+ค่าแรง)
หากเทียบกับกรณีสร้างบ้านใหม่ อย่างเช่นงบประมาณค่าก่อสร้างบ้านเดี่ยวตึก 2-3 ชั้นโดยคร่าวๆ ประมาณ 10,600-15,000 บ./ตร.ม. ต่อตารางเมตร (อ้างเกณฑ์ “ราคาประเมินค่าก่อสร้าง 2558 – 2559” กำหนดโดยมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน) โดยแบ่งได้เป็น

– งานโครงสร้าง 30-35% ของค่าก่อสร้าง
– งานระบบ ไฟฟ้า ประปา ระบายน้ำ 10-15% ของค่าก่อสร้าง
– งานสถาปัตย์และวัสดุปิดผิว 50-60% ของค่าก่อสร้าง โดยงบประมาณส่วนนี้มักจะยืดหยุ่นมากที่สุด ขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุที่เลือกใช้

สำหรับกรณีปรับปรุงบ้านอาจประมาณราคาที่ร้อยละ 60-75 ของงบประมาณสร้างบ้านใหม่ดังกล่าว โดยขึ้นอยู่กับขอบเขตงานที่จะปรับปรุง อย่างบางงานอาจมีการปรับปรุงเฉพาะส่วนงานสถาปัตย์ฯ และตกแต่งภายใน หรือในหลายกรณีที่ไม่มีการยุ่งเกี่ยวกับโครงสร้าง ก็จะไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เป็นต้น

Tips : กรณีเป็นงานปรับปรุงเล็กน้อย อย่างเช่น ปรับปรุงห้องน้ำห้องเดียว หรือทาสีห้องเพียงห้องเดียว เป็นต้น ผู้รับเหมามักจะคิดค่าใช้จ่ายเทียบต่อตารางเมตรค่อนข้างสูง จึงนับเป็นราคาพิเศษที่อาจไม่สามารถใช้หลักเกณฑ์ดังที่แนะนำไปข้างต้นได้

ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
เป็นค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากส่วนก่อสร้าง มักประกอบไปด้วย

– ค่ารื้อถอน
ประกอบด้วยค่าแรงในการรื้อถอนและขนย้ายเศษวัสดุต่างๆ ไปทิ้ง ในบางครั้งชิ้นส่วนที่รื้อถอนอาจนำไปขายต่อได้ เช่น ประตูเหล็ก วงกบอะลูมิเนียม เฟอร์นิเจอร์เก่า เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้อาจมีการเพิ่มเติมค่าดำเนินงานขนส่งของเพื่อการขายด้วยเช่นกัน
– ค่าเช่าสถานที่ชั่วคราว
การปรับปรุงบ้านย่อมมีการรื้อถอนก่อสร้าง ทำให้ต้องขนย้ายข้าวของไปไว้พื้นที่อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีปรับปรุงเป็นบริเวณกว้างหรือต้องรื้อถอนโครงสร้าง มักไม่สะดวกต่อการอยู่อาศัย อาจทำให้ต้องหันมาเช่าที่อยู่อาศัย หรือที่เก็บของชั่วคราวจนกว่าการก่อสร้างจะเสร็จเรียบร้อย ซึ่งนับเป็นอีกส่วนที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเช่นกัน
– ค่าจ้างนักออกแบบ และวิศวกร
หากต้องการปรับปรุงบ้านให้สวยงาม เหมาะสมกับฟังก์ชั่นการใช้งานอย่างแท้จริง อาจต้องพึ่งนักออแบบช่วยในส่วนนี้ และสำหรับกรณีที่โครงสร้างจะต้องรับน้ำหนักมากขึ้น (เช่น เปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาที่ต่างไปจากเดิม) หรือมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง จำเป็นต้องใช้บริการวิศวกรช่วยตรวจสอบในเรื่องนี้ เพื่อความปลอดภัย ซึ่งจะต้องเตรียมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย

ที่มา SCG Extream

Share this post

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart

ไม่มีสินค้าในตะกร้า